จอมบึงก่อนประวัติศาสตร์
........จากการสำรวจ ค้นคว้าและขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า 4000 ปีกระจัดกระจายอยู่โดยรอบของทุ่งจอมบึง บนพื้นที่ราบและถ้ำตามภูเขาลูกโดด
........เริ่มต้นด้วยคนสมัยหินใหม่ตอนต้น ซึ่งได้พบขวานหินกะเทาะที่บ้านหนองบัว (นอก) และเนินชัฏหนองคา เครื่องมือดังกล่าวมีรูปร่างลักษณะและทำจากหินชนวนและหินเถ้าภูเขาไฟ เหมือนที่พบที่ริมห้วยบ้านบ่อ เหมืองโลหะศิริ อำเภอสวนผึ้ง และแบบเดียวกับที่พบที่บ้านน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อประมาณ 4000 ปีมาแล้ว ผู้คนสมัยหินได้เคลื่อนไหวมาจากพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตระนาวศรี เข้าที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ก่อนลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
........ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทุ่งบึงใหญ่ และนานาสัตว์จากป่ารอบขอบบึง จึงได้พบหลักฐานว่าเป็นชุมชนแบบถาวรของผู้คนสมัยหินใหม่ ที่เนินไร่อ้อยบ้านหนองบัว ตลอดแนวริมบึงใหญ่ตั้งแต่วังมะเดื่อ หลังที่ว่าการอำเภอ หลังวัดจอมบึง หนองบ้านเก่า บ้านเกาะนอก และบ้านปากบึง สิ่งที่พบมากได้แก่ ขวานหินขัดแบบมีบ่าและแบบไม่มีบ่าธรรมดา ยังพบแบบเป็นกะเทาะรอยมันเรียบปลายคมผายออกที่หน้าวัดจอมบึง แบบเดียวกับที่พบที่สุราษฏร์ธานี มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำให้เห็นแนวทางอพยพ โยกย้ายและเคลื่อนไหวของผู้คนสมัยหิน จากเหนือที่จะผ่านราชบุรีลงใต้ และลงใต้ก็จะผ่านราชบุรีขึ้นเหนือ สิ่งอื่นก็ทำจากหินชนวนและดินเผา กำไลหิน งบน้ำอ้อย หินสลับขวานฟ้าและเศษภาชนะดินเผา
........สมัยต่อมาราว 2300-1700 ปีมาแล้ว เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยโลหะ ได้พัฒนาการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ด้วยสำริดและเหล็ก รู้จักใช้หิน แก้วและเปลือกหอยทำลูกปัดสวมใส่ มีวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่ 2 กล่าวคือ ครั้งแรกจะนำศพไปฝังไว้ชั่วคราวก่อนปล่อยให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดไปก่อน แล้วขุดกระดูกขึ้นมาแยกส่วนบรรจุในภาชนะดินเผา และประกอบพิธีกรรมฝังอีกครั้ง คติการฝังศพครั้งที่ 2 แพร่หลายมาจากภาคอีสานก่อน แล้วแพร่กระจายข้ามฟากมาทางตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
........หลักฐานที่พบแล้วเช่น ถ้ำและเชิงเขาบ้านหนองศาลเจ้า ตำบลเบิกไพร (พ.ศ.2523) ได้พบเครื่องมือเหล็ก ภาชนะสำริด ภาชนะดินเผา ลูกปัดทำจากหินคอร์นีเลียน แก้วสีเขียวและเปลือกหอย ที่ถ้ำเขารังเสือ ตำบลปากช่อง ได้พบเบ้าดินเผาสำหรับหล่อขวานสำริดข้างหนึ่ง ที่ปากบึง (พ.ศ.2521) ได้พบแหล่งฝังศพครั้งที่ 2 เป็นกลุ่มภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก เสียมเหล็ก ภาชนะสำริดเนื้อบาง ลูกปัดหิน แก้วสีและดินเผา ลูกกระพรวน แหวน กำไลและหัวเข็มขัดสำริด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบที่บ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี (พ.ศ.2519)
........ที่บ้านหนองบัวนอกริมบึง ตำบลจอมบึง (พ.ศ.2532) พบเครื่องมือเหล็กบรรจุในภาชนะดินเผาเล็กใหญ่ ตะกรันเหล็กหรือขี้แร่ เหล็กที่เกิดจากการถลุง กระจายอยู่บนผิวดินเพราะแรงไถพลิกดินทำไร่อ้อย และสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ พบว่าตระกรันเหล็กมีลักษณะเดียวกับที่พบแถบเขาปฏัก เขาพุพระ เขาหนองหญ้าปล้อง ตำบลหนองกวาง โพธาราม ซึ่งแหล่งนั้นมีร่องรอยนำวัตถุดิบแร่เหล็กมาจากเขาเขียว ตำบลเขาชะงุ้ม โพธาราม
........หลักฐานการถลุงเหล็กอย่างเป็นอุตสาหกรรม มักจะพบควบคู่กับประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 เสมอ และเป็นร่องรอยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ภายหลัง ณ บริเวณนี้น่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้พบหลักฐานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยหินใหม่
จอมบึงสมัยต้นประวัติศาสตร์
จอมบึงสมัยต้นประวัติศาสตร์
........ที่เนินชัฏหนองคาริมทุ่งจอมบึง มีร่องรอยขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัดของผู้คนสมัยหินอยู่ต่อเนื่องกันถึงสมัยโลหะตอนปลาย จนได้รับเอาวัฒนธรรมความเจริญซึ่งแพร่มาจากเมืองคูบัว และแถบถ้ำเทือกเขางู แล้วพัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนสมัยทวารดีเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
........จากการสำรวจและขุดพบโดยบังเอิญจากการทำไร่อ้อย (พ.ศ.2527) พบว่ามีลูกปัดแก้วเหลืองทึบแสงจำนวนมาก สีอื่นๆ พบน้อยมากในภาชนะคล้ายตุ่มน้ำ ปนกับเถ้ากระดูกคนที่เผาไฟแล้วเปลือกหอยแครงฝาโตๆ แบบที่พบแถบริมแม่น้ำอ้อมและเมืองคูบัว เป็นหลักฐานแสดงถึงชุมชนแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนประเพณีจากขุดแล้วฝังมาเป็นเผาแล้วฝังแทน
........ประเพณีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ไปสู่ต้นสมัยประวัติศาสตร์ในพุทธศตวรรษที่ 11 แล้วสืบเนื่องผสมผสานเป็นสมัยทวารวดี ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกคนที่เผาไฟแล้วจำนวนมาก หลังจากรถแทรกเตอร์ไถพรวนดินล่างขึ้นบนทั่วบริเวณแล้วภายหลังฝนตกหนักปรากฏกระดูกไปกองรวมที่ชายขอบที่ยังไม่ได้ไถที่ นี่คือวัฒนธรรมอินเดียที่ผ่านทางทะเลเข้ามาตามลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แล้วจากเมืองโบราณคูบัวและแถบถ้ำเขางู ได้ผ่านเข้าไปภายในถึงริมรอบขอบบึงนี้ หลักฐานที่สนับสนุน เช่น เปลือกหอยแครงฝาโตๆ แบบที่พบแถบเวียงทุน โคกพริกคูบัวริมแม่น้ำอ้อม แสดงถึงความสัมพันธ์กับแหล่งบริโภคอาหารทางทะเล จนสามารถนำสิ่งของเป็นอะไร? ไปแลกเปลี่ยนกับอาหารทางทะเลได้