วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

...

Chombueng
...
........อำเภอจอมบึงตั้งอยู่ทางตอนกลาง ค่อนไปทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอด่านมะขามเตี้ยและอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอโพธารามและอำเภอเมืองราชบุรี
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอปากท่อและอำเภอบ้านคา
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสวนผึ้ง
........อำเภอจอมบึง
........อำเภอจอมบึงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง แหล่งการศึกษาและการเรียนรู้ที่สำคัญ ติดกับอำเภอเมืองราชบุรี ดินแดนแห่งนี้ที่ได้ชื่อว่า "จอมบึง" เพราะในอดีตเคยมีบึงใหญ่ เป็นบึงน้ำใส ปลาชุม เป็นที่อยู่ของนกเป็ดน้ำ นกตะกรุม นกตะกาม นกกระสา ผืนแผ่นดินโดยรอบอุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าเบญพรรณและเป็นที่ราบสม่ำเสมอ ในปัจจุบันบึงหายไปแต่กลับกลายเป็นที่นาเข้ามาแทน
........ป่าในจอมบึงถูกรุกรานง่ายและถูกตัดถางป่าอย่างมาก แต่ก่อนต้นไม้ในป่าถูกตัดนำมาสร้างบ้านช่องเรือนชานของชาวบ้าน ถูกตัดมาเผาเป็นถ่าน ถูกตัดนำมาทำเกวียนออกใช้งาน ทำฟืนเผาหัวรถจักรไอน้ำ เป็นฟืนป้อนเตาเผาปูนขาว ปูนแดง และเผาโอ่ง โดยเฉพาะหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อุตสาหกรรมโอ่งรุ่งเรืองอย่างมาก นอกจากนี้ป่าไม้ยังถูกตัดนำมาทำเสาเรือน เข้าโรงเลื่อยทำไม้กระดาน
........ต่อมาจอมบึงถูกจับจองปรับพื้นดินทำไร่อ้อย ทำไร่มันสำปะหลัง ถูกบุกรุกหนักเพราะเป็นพื้นที่ราบใกล้เมือง หน้าดินอุดมสมบูรณ์
........ประชากรในจอมบึงมี ลาวโซ่ง อยู่มากที่ตลาดควาย บ้านชุกหว้า บ้านบุญแวว บ้านวังปลา จอมบึงในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาจากหน่วยงานท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก เพราะมีถ้ำเขาบินขนาดใหญ่ กว้างขวางถึง 5 ไร่ มีสวนสัตว์เปิดเขาประทับช้าง เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์สัตว์ป่าเขาประทับช้างขึ้นกับกองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ มีถ้ำสวยงามคือถ้ำจอมพล ที่มีหินงอกหินย้อยภายในราวกับภาพวาด และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า ถ้ำจอมพล
ที่มา : ยอดแต้ว อักษรา. ราชบุรี. (2543). แสงแดด, กรุงเทพฯ

100 ปีจอมบึง

จอมบึงก่อนประวัติศาสตร์
........จากการสำรวจ ค้นคว้าและขุดค้นทางโบราณคดี ได้พบหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่กำหนดอายุได้ไม่น้อยกว่า 4000 ปีกระจัดกระจายอยู่โดยรอบของทุ่งจอมบึง บนพื้นที่ราบและถ้ำตามภูเขาลูกโดด
........เริ่มต้นด้วยคนสมัยหินใหม่ตอนต้น ซึ่งได้พบขวานหินกะเทาะที่บ้านหนองบัว (นอก) และเนินชัฏหนองคา เครื่องมือดังกล่าวมีรูปร่างลักษณะและทำจากหินชนวนและหินเถ้าภูเขาไฟ เหมือนที่พบที่ริมห้วยบ้านบ่อ เหมืองโลหะศิริ อำเภอสวนผึ้ง และแบบเดียวกับที่พบที่บ้านน้ำพุ อำเภอเมืองราชบุรี หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อประมาณ 4000 ปีมาแล้ว ผู้คนสมัยหินได้เคลื่อนไหวมาจากพื้นที่สูงแถบเทือกเขาตระนาวศรี เข้าที่ราบสลับภูเขาลูกโดด ก่อนลงสู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำแม่กลอง
........ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์สัตว์น้ำในท้องทุ่งบึงใหญ่ และนานาสัตว์จากป่ารอบขอบบึง จึงได้พบหลักฐานว่าเป็นชุมชนแบบถาวรของผู้คนสมัยหินใหม่ ที่เนินไร่อ้อยบ้านหนองบัว ตลอดแนวริมบึงใหญ่ตั้งแต่วังมะเดื่อ หลังที่ว่าการอำเภอ หลังวัดจอมบึง หนองบ้านเก่า บ้านเกาะนอก และบ้านปากบึง สิ่งที่พบมากได้แก่ ขวานหินขัดแบบมีบ่าและแบบไม่มีบ่าธรรมดา ยังพบแบบเป็นกะเทาะรอยมันเรียบปลายคมผายออกที่หน้าวัดจอมบึง แบบเดียวกับที่พบที่สุราษฏร์ธานี มาเลเซียและอินโดนีเซีย ทำให้เห็นแนวทางอพยพ โยกย้ายและเคลื่อนไหวของผู้คนสมัยหิน จากเหนือที่จะผ่านราชบุรีลงใต้ และลงใต้ก็จะผ่านราชบุรีขึ้นเหนือ สิ่งอื่นก็ทำจากหินชนวนและดินเผา กำไลหิน งบน้ำอ้อย หินสลับขวานฟ้าและเศษภาชนะดินเผา
........สมัยต่อมาราว 2300-1700 ปีมาแล้ว เป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยโลหะ ได้พัฒนาการทำเครื่องมือ เครื่องใช้ด้วยสำริดและเหล็ก รู้จักใช้หิน แก้วและเปลือกหอยทำลูกปัดสวมใส่ มีวัฒนธรรมการฝังศพครั้งที่ 2 กล่าวคือ ครั้งแรกจะนำศพไปฝังไว้ชั่วคราวก่อนปล่อยให้เนื้อหนังเน่าเปื่อยหมดไปก่อน แล้วขุดกระดูกขึ้นมาแยกส่วนบรรจุในภาชนะดินเผา และประกอบพิธีกรรมฝังอีกครั้ง คติการฝังศพครั้งที่ 2 แพร่หลายมาจากภาคอีสานก่อน แล้วแพร่กระจายข้ามฟากมาทางตะวันตกของลุ่มน้ำเจ้าพระยา
........หลักฐานที่พบแล้วเช่น ถ้ำและเชิงเขาบ้านหนองศาลเจ้า ตำบลเบิกไพร (พ.ศ.2523) ได้พบเครื่องมือเหล็ก ภาชนะสำริด ภาชนะดินเผา ลูกปัดทำจากหินคอร์นีเลียน แก้วสีเขียวและเปลือกหอย ที่ถ้ำเขารังเสือ ตำบลปากช่อง ได้พบเบ้าดินเผาสำหรับหล่อขวานสำริดข้างหนึ่ง ที่ปากบึง (พ.ศ.2521) ได้พบแหล่งฝังศพครั้งที่ 2 เป็นกลุ่มภาชนะดินเผาบรรจุกระดูก เสียมเหล็ก ภาชนะสำริดเนื้อบาง ลูกปัดหิน แก้วสีและดินเผา ลูกกระพรวน แหวน กำไลและหัวเข็มขัดสำริด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่พบที่บ้านดอนตาเพชร กาญจนบุรี (พ.ศ.2519)
........ที่บ้านหนองบัวนอกริมบึง ตำบลจอมบึง (พ.ศ.2532) พบเครื่องมือเหล็กบรรจุในภาชนะดินเผาเล็กใหญ่ ตะกรันเหล็กหรือขี้แร่ เหล็กที่เกิดจากการถลุง กระจายอยู่บนผิวดินเพราะแรงไถพลิกดินทำไร่อ้อย และสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ พบว่าตระกรันเหล็กมีลักษณะเดียวกับที่พบแถบเขาปฏัก เขาพุพระ เขาหนองหญ้าปล้อง ตำบลหนองกวาง โพธาราม ซึ่งแหล่งนั้นมีร่องรอยนำวัตถุดิบแร่เหล็กมาจากเขาเขียว ตำบลเขาชะงุ้ม โพธาราม
........หลักฐานการถลุงเหล็กอย่างเป็นอุตสาหกรรม มักจะพบควบคู่กับประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 เสมอ และเป็นร่องรอยพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดชุมชนขนาดใหญ่ภายหลัง ณ บริเวณนี้น่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ จึงได้พบหลักฐานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่สมัยหินใหม่
จอมบึงสมัยต้นประวัติศาสตร์
........ที่เนินชัฏหนองคาริมทุ่งจอมบึง มีร่องรอยขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัดของผู้คนสมัยหินอยู่ต่อเนื่องกันถึงสมัยโลหะตอนปลาย จนได้รับเอาวัฒนธรรมความเจริญซึ่งแพร่มาจากเมืองคูบัว และแถบถ้ำเทือกเขางู แล้วพัฒนาการขึ้นเป็นชุมชนสมัยทวารดีเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-14
........จากการสำรวจและขุดพบโดยบังเอิญจากการทำไร่อ้อย (พ.ศ.2527) พบว่ามีลูกปัดแก้วเหลืองทึบแสงจำนวนมาก สีอื่นๆ พบน้อยมากในภาชนะคล้ายตุ่มน้ำ ปนกับเถ้ากระดูกคนที่เผาไฟแล้วเปลือกหอยแครงฝาโตๆ แบบที่พบแถบริมแม่น้ำอ้อมและเมืองคูบัว เป็นหลักฐานแสดงถึงชุมชนแห่งนี้ได้รับวัฒนธรรมพุทธศาสนา จึงได้เปลี่ยนประเพณีจากขุดแล้วฝังมาเป็นเผาแล้วฝังแทน
........ประเพณีที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราวพุทธศตวรรษที่ 10 ไปสู่ต้นสมัยประวัติศาสตร์ในพุทธศตวรรษที่ 11 แล้วสืบเนื่องผสมผสานเป็นสมัยทวารวดี ได้แก่ ชิ้นส่วนกระดูกคนที่เผาไฟแล้วจำนวนมาก หลังจากรถแทรกเตอร์ไถพรวนดินล่างขึ้นบนทั่วบริเวณแล้วภายหลังฝนตกหนักปรากฏกระดูกไปกองรวมที่ชายขอบที่ยังไม่ได้ไถที่ นี่คือวัฒนธรรมอินเดียที่ผ่านทางทะเลเข้ามาตามลุ่มแม่น้ำแม่กลอง แล้วจากเมืองโบราณคูบัวและแถบถ้ำเขางู ได้ผ่านเข้าไปภายในถึงริมรอบขอบบึงนี้ หลักฐานที่สนับสนุน เช่น เปลือกหอยแครงฝาโตๆ แบบที่พบแถบเวียงทุน โคกพริกคูบัวริมแม่น้ำอ้อม แสดงถึงความสัมพันธ์กับแหล่งบริโภคอาหารทางทะเล จนสามารถนำสิ่งของเป็นอะไร? ไปแลกเปลี่ยนกับอาหารทางทะเลได้

3

........ภูเขาลูกโดดติดกับเนินชัฏหนองคา ชื่อสำปะแจ สูง 165 เมตร ห่างจากที่ว่าการอำเภอจอมบึงประมาณ 3 กิโลเมตร มีถ้ำชื่อถ้ำพระพิมพ์ ได้พบพระพิมพ์สมัยทวารวดีรุ่นเก่าฝีมือช่างอินเดียแบบเดียวกับที่พบแถบเมืองคูบัว ถ้ำฤๅษีเขางู เขาวังสะดึง ซึ่งมีอายุประมาณ 1100-1600 ปีมาแล้วเป็นพระพุทธรูปประทับนั่งห้อยพระบาทแสดงปางประธานปฐมเทศนา ภายใต้สถูปมีเจดีย์เล็กอยู่ข้างๆ
สมัยลพบุรี
........ถ้ำพระพิมพ์มีพระสงฆ์ ฤๅษีหรือพุทธศาสนิกชนได้อุทิศเวลาของตนเพื่อการแสวงหาบุญกุศล ได้สร้างพระพิมพ์อย่างต่อเนื่องถึงสมัยลพบุรี เป็นพระพิมพ์แบบพระแผ่นรูปพระพุทธเจ้าประทับปางมารวิชัยบนฐานปัทม์ลูกแก้ว และประทับยืนปางประทานภัย รวม 19 องค์ภายสนซุ้มเรือนแก้ว พระพิมพ์แบบนี้ยังได้พบที่อยุธยา กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราชด้วย หลักฐานที่รองรับสมัยลพบุรีคือได้พบเศษเครื่องเคลือบจีน เช่น ตลับสีขาวสมัยซ้องเหนือและซ้องใต้ จานเคลือบสีเขียวสมัยซ้องและสมัยหยวนด้วย ซึ่งตรงกับสมัยลพบุรีหรือสมัยอู่ทองของเมืองราชบุรี ถ้ำพระพิมพ์ล้างไปประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยลพบุรีตอนปลาย
สมัยอยุธยา
........เมื่อไทยต้องทำสงครามกับพม่า เริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช แขวงเมืองราชบุรีและสุพรรณบุรีส่วนหนึ่งถูกนำมารวมกันตั้งเป็นเมืองนครชัยศรี เมืองราชบุรีกลายเป็นสถานที่ระดมพลมาป้องกันพระนคร และเป็นเมืองที่มีกองทัพประจำพร้อมที่จะร่วมทำศึกกับทัพหลวงได้ทันทีที่ทัพข้าศึกยกมารุกราน
........ดังนั้นชายแดนเมืองราชบุรีจึงเป็นเส้นทางเดินทัพของไทยกับพม่า โดยยึดแนวลำน้ำภาชี ดังได้ปรากฏด่านสำคัญๆ เช่น ด่านเจ้าขว้าว เขตอำเภอสวนผึ้ง ด่านทับตะโก เขตอำเภอจอมบึงและด่านมะขามเตี้ย เขตกิ่งอำเภอด่านมะขามเตี้ย ถ้าเลยขึ้นไปจะต่อเนื่องถึงด่านบ้องตี้
........พม่าเมื่อยกเข้ามาทางเมืองทะวาย ด่านบ้องตี้ เทือกเขาตะนาวศรี ก็จะเลียบชายเขาลงมาทางใต้เข้าเขตราชบุรี ตัดข้ามแม่น้ำภาชี ผ่านช่องเขาชนแอกและเขาสนลงมาทุ่งราบจอมบึงก่อนถึงทุ่งเขางูซึ่งเป็นสนามรบใกล้ตัวเมืองราชบุรี
........หมู่บ้านแต่ละแห่งมีชื่อเรียกขาน บอกถึงภูมหลังและรกรากความเป็นมาของผู้อาศัย มีตำนานท้องถิ่นเล่าความเป็นมา สะท้อนภาพวัฒนธรรมท้องถิ่น บอกลักษณะภูมิประเทศทำเลที่ตั้ง บอกถึงเรื่องราวของชุมชนและอาจใช้เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อถือในอดีต
........ด่านทับตะโก
........จากเหตุการณ์ไทยรบกับพม่าตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี ถึงรัตนโกสินทร์ชายแดนเมืองราชบุรี เป็นเส้นทางเดินทัพของไทยกับพม่า ต่อเนื่องมาตลอด โดยยึดแนวแม่น้ำภาชี จึงปรากฏด่านสำคัญๆ เช่น ด่านเจ้าขว้าว เขตอำเภอสวนผึ้ง ด่านทับตะโก เขตอำเภอจอมบึงและด่านมะขามเตี้ย เขตกิ่งอำเภอด่านมะขามเตี้ย ถ้าเลยขึ้นไปจะต่อเนื่องถึงด่านบ้องตี้
........สมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ.2230 เมื่อทหารฝรั่งเศสไปสร้างป้อมที่เมืองมะริด ก็ต้องเดินทัพผ่านด่านดังกล่าว และเมื่อ พ.ศ.2302 พระเจ้าอลองพญายกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา แล้วถูกปืนใหญ่บาดเจ็บสาหัส ก็ต้องเดินทัพผ่านด่านทัพตะโกเหมือนกัน
........สมัย พระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อเกิดศึกที่บางกุ้ง สมุทรสงคราม (พ.ศ.2310) และที่บางแก้ว เมืองราชบุรี (พ.ศ.2317) พม่าแตกทัพก็หนีออกทางด่านทัพตะโกด้วย
........สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เกิดศึกเก้าทัพ (พ.ศ.2328) ทัพที่ 2 ของพม่า เดินทัพผ่านด่านทับตะโก และเมื่อแตกพ่ายจากหนองบัวค่ายก็หนีกลับทางด่านเจ้าขว้าวด่านทัพตะโกและด่านมะขามเตี้ย
........สมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อทราบข่าวพม่าจะยกมา พ.ศ.2363 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่3) เป็นแม่ทัพไปตั้งขัดตาทัพที่ปากแพรก ก็ต้องผ่านด่านทัพตะโกขึ้นไปยังแควน้อยและแควใหญ่
........ที่ตั้งของค่ายอยู่ทางด่านทัพตะโกใน ดังโครงนิราศกาญจนบุรีบรรยายว่า
........................ค่ายใหญ่อยู่ใกล้ท่า นัทที
................ลำแม่น้ำภาชี ชื่ออ้าง
................น้ำใสสนิทดี ดูดุจ กรองนา
................นึกระกำยามร้าง ถูกร้อนฤาเย็นๆ
........เมื่อ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นำพลเสือป่าเดินทางไกลซ้อมรบ ก็ได้ประทับแรมที่ด่านทัพตะโกในคืนวันที่ 22-23 มกราคม พ.ศ.2457 เพื่อทอดพระเนตรเส้นทางเดินทัพไทยรบกับหม่าด้วย
........เล่ากันต่อมาว่า เพราะพม่าตั้งด่านในดงต้นตะโก โดยใช้ใบตองกล้วยมุงหลังคาอย่างที่เรียกว่า ทับ ที่ตรงนั้นเลยได้ชื่อว่า ด่านทับตะโกแต่นั้นมา
........เมื่อ พ.ศ.2501 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยกฐานะกิ่งอำเภอจอมบึง เป็นอำเภอจอมบึง ป่าไม้แถบด่านทับตะโกยังอุดมสมบูรณ์มาก ต้นยางสูงใหญ่ขึ้นเรียงรายริมลำน้ำภาชี ฝูงนกเป็ดน้ำที่บึงลำทรายใหญ่ ทำให้คนภายนอกรู้จักด่านทับตะโกมากขึ้น
........ปัจจุบันพันธุ์ไม้ทุกชนิดเกือบหมดไป มีพืชไร่เศรษฐกิจขึ้นมาแทน ที่ดินราคาแพงขึ้นคนพื้นเดิมย้ายถิ่นออกไป คนต่างถิ่นมาตั้งรกรากแทน เกิดชุมชนใหม่เป็น บ้านด่านทัพตะโกนอก และได้มีการบริหารท้องถิ่นเป็น สุขาภิบาลด่านทับตะโก
........หนองบัวค่ายแสงกะบะ หนองสัง หนองแร้ง
........ครั้นพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 เสด็จผ่านบ้านหนองบัวค่ายไปไทรโยค เมื่อพ.ศ.2416 ก็มีชื่อบ้านหนองบัวค่ายแล้วดังปรากฎในโครงนิราศ ซึ่งรัชกาล
ที่ 5 ทรงนิพนธ์ไว้เป็นสำนวนของผู้ตามเสด็จชื่อว่า ท้าวสุภัตติการภักดี (นาก)
........................ถึงช่องเขาทลุเลี้ยว เลยมา
................แลละลิ่วเพิงผา โหว่โหว้
................กระทิงถึกพยัคฆา เคยสู่ สิงแฮ
................เขาทลุโล่งโต้ ตอบด้วยทรวงเรียมๆ
........................เขาทลุฤาใหญ่เหยี้ยง อกเรา
................กว้างกว่าขอบเขตรเขา วากวุ้ง
................ทุกแทบสัตว์ร้ายเนา ในอก
................นอนแต่นอนสดุ้ง ยิ่งร้อยสัตว์เดินๆ
........................หนองบัวค่ายเก่าตั้ง แต่เดอม
................หวนฤาหายหื่นเหอม อึดอั้น
................หนองบัวยิ่งมาเตอม แต่โศก
................บัวว่าบัวนุชปั้น เปลี่ยนไว้ให้ชมๆ
........จากหนังสือไทยรบพม่าของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกล่าวว่า พระเจ้าปดุงเมื่อเสวยราชย์ได้ 3 ปี จึงคิดจะมาตีเมืองไทยให้มีเกียรติยศเป็นมหาราชเหมือนเช่นพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ดังนั้นปีมะเส็ง พ.ศ.2328 จึงได้เตรียมกองทัพมีกำลังพลถึง 144,000 โดยจัดเป็นกระบวนทัพ 9 ทัพ
.......เฉพาะทัพที่ 2 มี อนอกแฝกคิดหวุ่น เป็นแม่ทัพถือพล 10,000 เข้ามาทางด่านบ้องตี้ ให้พระยาทวายเป็นกองหน้าถือพล 3,000 ตัว อนอกแฝกคิดหวุ่น เป็นกองหลวงถือพล 4,000 ให้จิกสิบโบ่เป็นกองหลังถือพล 3,000 เมื่อพระยาทวายกองหน้ามาตั้งค่ายที่ริมบึงใหญ่นั้น อนอกแฝกคิดหวุ่นแม่ทัพตั้งที่ท้องทุ่งใหญ่ จิกสิบโบ่ทัพหลังตั้งที่ด่านเจ้าขว้าวริมลำน้ำภาชี ทั้งหมดไม่รู้ว่ากองทัพทางลาดหญ้าแตกหมดแล้ว
........เจ้าพระยาธรรมาและพระยายมราชซึ่งไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ก็ประมาทไม่ได้ให้กองลาดตระเวนออกไปเสีย หาทราบว่ามีกองทัพพม่าเข้ามาถึงลำน้ำภาชีและหลังเขางู เมื่อสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทมีชัยชนะที่ทุ่งลาดหญ้า เสด็จแล้วมีรับสั่งให้พระยากลาโหมราชเสนากับพระยาจ่าแสนยากร คุมกองทัพลงมาทางบุก พอทราบข่าวว่าพม่าตั้งค่ายอยู่ที่คอกเขางู จึงยกกองทัพเข้าตีค่ายพม่า ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน พม่าทานกำลังไม่ได้ก็แตกหนีทั้งกองหน้าและกองหลวง ไทยไล่ติดตามฆ่าฟันไปจนปะทะทัพหลังๆ ก็พลอยแตกไปด้วย กองทัพไทยจับพม่าและเครื่องศัสตราวุธช้างม้าพาหะได้เป็นอันมาก ที่เหลือก็หนีกลับไปเมืองทวาย
........ท้องทุ่งจอมบึงหลังสงครามเก้าทัพแล้ว ก็ถูกเรียกขานว่า ท้องทุ่งชาตรี ถัดจากซากค่ายพม่าไปทางใต้ไม่ถึงกิโลเมตร ชาวบ้านเล่าต่อๆ มาว่าครั้นพม่าถูกฆ่าตายมากมาย จนศพเหม็นเน่าแรมปี จึงเรียกที่นั่นว่าบ้านหนองสาง ต่อมาเห็นว่านามไม่เป็นมงคล จึงเปลี่ยนเป็นสัง ชื่อต้นไม้ที่ขึ้นมากบริเวณนั้นแทน จึงเรียกเพี้ยนเป็น บ้านหนองสัง
........กลางทุ่งชาตรีที่พม่าล่าถอยผ่านไปแล้ว ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากค่ายพม่าประมาณ 4 กิโลเมตรนั้น ได้ทิ้งซากศพไว้มากมาย บ้างก็เล่าต่อๆ กันมาว่า ทัพพม่าที่อาศัยหนองน้ำที่นั่นถูกทหารไทยแอบใส่ยาพิษไว้ จึงเมาตายกันเป็นเบือ ฝูงแร้งกาได้ลงจิกกินศพเป็นแรมเดือนเหมือนกัน ซึ่งจากคำบอกเล่าต่อๆ กันมาเมื่อเป็นหมู่บ้านแล้วจึงเรียกว่า บ้านหนองแร้ง
........จากค่ายพม่าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือริมขอบบึง ประมาณ 2 กิโลเมตร พม่าที่มาประชุมพลกันมาก ชาวบ้านรับรู้และเล่าต่อกันมาว่า เวลาเลี้ยงข้าวปลาอาหารต้องใช้กระบะไม้แทนจานข้าวซึ่งต้องใช้ถึงจำนวนแสนกระบะ ชาวบ้านจึงเรียกที่นั่นว่าบ้านแสนกระบะต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น บ้านแสงกะบะ
........บ้านหนองบัวค่าย ปัจจุบันอยู่ในตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง บริเวณวัดบ้านหนองบัวค่ายมีร่องรอยที่เป็นเนินดินค่ายเก่าของพม่า มีร่องน้ำที่เป็นแนวธรรมชาติและขุดเป็นค่ายมีร่องรอยที่เป็นเนินดินค่ายเก่าของพม่า มีร่องน้ำที่เป็นแนวธรรมชาติและที่ขุดเป็นคูค่ายปรากฏอยู่ชาวบ้านรุ่นเก่ายังเรียกว่า บ้านสันคู ต่อมาได้เกิดกอบัวชูดอก ดอกสลอนเต็มคูค่ายเช่นอดีต ชาวบ้านจึงเปลี่ยนจากบ้านสันคูมาเป็น บ้านหนองบัวค่าย
........อำเภอจอมบึงมีคณะกรรมการวัฒนธรรมระดับอำเภอแล้ว ตามที่ได้ดำเนินการโครงการสืบค้นตำนานภูมินามหมู่บ้านในที่นี้ ใคร่จะเสนอแนะให้ติดตั้งป้ายบอกความสำคัญของหนองบัวค่าย ที่ทุกคนควรรู้จักแล้วจดจำและสำนึกในวีรกรรมของบรรดาทหารหาญทั้งปวงในครั้งนั้นว่า “ที่ตั้งค่ายทหารพม่า พ.ศ.2328”
........ณ ที่นี้ศึกหนองบัวค่าย นักรบไทยได้เสียสละเลือด ชีวิต เป็นชาติพลี
เพื่อรักษาขอบขัณฑ์รัฐสีมา ให้ไทยคงเป็นไทย ตราบเท่าทุกวันนี้”
........ปากช่อง ทุ่งพิทาบ
........เดิมเป็นหมู่บ้านเล็กๆ บนเส้นทางสู่ป่าหรือกิ่งอำเภอจอมบึงสมัยก่อน สมัยนั้นถ้าจะเดินทางด้วยม้าหรือเกวียนออกจากจอมบึง ไม่ว่าจะเดินทางจากราชบุรีเข้าไปหรือจากจอมบึงออกมา จะต้องพักค้างคืนที่ปากช่องหนึ่งคืนเสมอ กล่าวคือ ถ้าออกจากราชบุรีจะผ่านทางเขางูด้านเหนือ ผ่านห้วยตะแคง ห้วยจำปา เข้าปากช่อง พักหนึ่งคืน รุ่งเช้าผ่านสำนักพุทรา ผ่านออกเขาบินรางม่วง ปากบึง แล้วจึงจะถึงกิ่งอำเภอจอมบึง
........สมัยรัชกาลที่ 5 เสด็จถ้ำจอมพล จะเรียกท้องที่ตำบลรวมกันว่า ปากช่องทุ่งพิทาบ ปัจจุบันปากช่องห่างจากบ้านทุ่งพิทาบประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อสอบถามชาวบ้านว่าทุ่งพิราบหมายถึงอะไร ต่างก็บอกว่าไม่ทราบความหมายกันแล้ว จึงได้สอบประวัติอาชีพและภูมิประเทศ เดิมมีบ้านไม่กี่หลังคาเรือน โดยแยกครัวมาจากบ้านเกาะพลับพลา อาศัยทำนาแต่ท่าน้ำไม่ค่อยดีนัก โดยหมู่รอบบ้านเป็นป่าหนามต้นพรมและป่าโปร่ง จึงเลี้ยงวัวฝูงได้ดี นานปีเข้าขี้วัวกองทัพถมต้องย้ายคอกบ่อยแต่อยู่ใกล้ๆ บ้าน บริเวณหมู่บ้านจึงเต็มไปด้วยขี้วัวทับถมนานปี ดังนั้นก่อนทางการจะตั้งชื่อหมู่บ้านและแบ่งเป็นหมู่บ้านทั่วๆ ไป ต่างก็เรียกกันว่า บ้านทุ่งขี้ทาบ ภายหลังเรียกเพี้ยนไปเพราะนามไม่เป็นมงคล จึงเรียกว่า ทุ่งพิทาบ
........เขาประทับช้าง
........เขาประทับช้าง ตั้งอยู่ระหว่างเขตตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง กับเขตตำบลหินกองอำเภอเมืองราชบุรี
........พ.ศ. 2363 พระเจ้าจักกายแมง รัชกาลที่ 7 ในราชวงศ์อลองพญา ได้ข่าวว่าเมืองไทยเกิดอหิวาตกโรค ผู้คนล้มตายระส่ำระสายมาก เห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะมาตีเมืองไทยให้ปรากฏเป็นเกียรติ แต่ข่าวพม่ายกทัพมาทราบถึงกรุงเทพฯ รัชกาลที่ 2 จึงโปรดให้จัดทัพใหญ่ 4 ทัพ โดยทัพที่ 1 ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ หรือ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแม่ทัพเสด็จฯ ไปตั้งรักษาเมืองกาญจนบุรีที่ปากแพรก คอยต่อสู้ทัพพม่าที่จะยกเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์
........สมัยนั้น เมืองราชบุรีกับเมืองกาญจนบุรียังรวมกันอยู่เรียกว่า หัวเมืองปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตก กรมหมื่นเจษฏาบดินทร์เป็นแม่ทัพคุมพล 10,000 ไปตั้งขัดตาทัพโดยผ่าน เขาประทับช้าง ออกหัวเขาสนไปด่านเจ้าขว้าวริมแม่น้ำภาชี ขึ้นเหนือตามลำน้ำไปตั้งอยู่ตรงแควน้อยกับแควใหญ่มาพบกันเรียกว่า ปากแพรก
........ก่อนหน้าเหตุการณ์นี้และหลังจากนั้น ไม่ปรากฏว่ามีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหน เคยเสด็จฯ ผ่านแวะประทับแรมหรือประทับร้อนที่เขาประทับช้างเลย ชาวบ้านคงเรียกว่าเขาประทับช้างมานาน จนเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ถ้ำจอมพลเมื่อ พ.ศ.2438 นั้น ในโปรแกรมการเสด็จฯ ก็มีชื่อว่าเขาประทับช้างแล้ว ดังนั้นจึงไม่ใช่รัชกาลที่ 5 ทรงแวะประทับร้อนดังที่เคยเข้าใจกันมา เพราะทุกครั้งที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ โปรดทรงม้าพระที่นั่งเสมอ
........ตลาดบ้านกลาง
........จอมบึงตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ.2438 ที่ว่าการกิ่งอำเภอครั้งแรกตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบ้านเกาะ ตรงบริเวณที่เป็นโรงฆ่าสัตว์สุขาภิบาลจอมบึงปัจจุบัน ส่วนวัดจอมบึงเดิมตั้งอยู่บริเวณสนามหญ้าโรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฏ์ และข้ามฟากถนนไปริมทางเกวียนสายเก่า นายก้านวงศาโรจน์เป็นปลัดกิ่งคนแรก ต่อมาย้ายไปตั้งใหม่เป็นครั้งที่ 2 ตรงบริเวณเสาธงในสนามโรงเรียนบ้านจอมบึง แล้วครั้งที่ 3 ย้ายไปตั้งใหม่ในที่ปัจจุบัน โดยนำตัวไม้อาคารครั้งที่ 2 มาสร้างเป็นบ้านพักปลัดกิ่งและบ้านพักเสมียนรวม 2 หลัง ส่วนวัดจอมบึงก็ได้ย้ายตามมาตั้งใหม่ในที่ปัจจุบันด้วย แต่ก่อนที่จะย้ายที่ว่าการอำเภอครั้งที่ 3 นั้น ได้มีการไปสร้างสถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอและสุขศาลาไว้ก่อนแล้ว คืออาคารสุขศาลาที่พักของ อส.ในปัจจุบัน
........ฯพณฯ จอมพลผิน ชุณหวัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรมาเปิดป้ายกิ่งอำเภอเมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2497
........เส้นทางหลวงสายเก่าเมื่อครั้งตั้งกิ่งอำเภอจนย้ายมาแล้วถึงสามครั้งนั้น เส้นทางจะเริ่มจากปากบึง ผ่านลงทุ่งเข้าหมู่บ้านทำเนียบ แล้วผ่านออกที่พักคนโดยสารรถประจำทาง หน้าโรงเรียนคุรุราษฏ์รังสฤษฎ์ซึ่งเดิมเป็นบริเวณวัดจอมบึง แล้วผ่านบ้านเกาะซึ่งเคยเป็นที่ตั้งกิ่งอำเภอ ผ่านไปอู่ประจักรคาร์แคร์ แล้วผ่านหลังปั้มน้ำมันตราดาว ทะลุออกหน้าวัดจอมบึงตรงต้นโพธิ์ ตามแนวกำแพงวัดผ่านไปหน้าโรงเรียนจอมบึง ตางเข้าหมู่บ้านวังมะเดื่อ จากบ้านวังมะเดื่อจะผ่านกลางวิทยาลัยครู (มหาวิทยลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง) ไปออกบ้านหนองบัว (ใน) ส่วนถนนใหญ่ผ่านไปปัจจุบันนี้เรียกว่าบ้านหนองบัวนอก
........ขณะที่กิ่งอำเภอย้ายมาตั้งใหม่ครั้งที่ 2 ผู้คนก็เริ่มย้ายมาตั้งอยู่บริเวณหน้ากิ่งอำเภอด้วย นายพิจิตร สุขสมบูรณ์ข้าราชการป่าไม้กิ่งอำเภอสมัยนั้น ได้สร้างเรือนยาวมุงกระเบื้องทรงปั้นหยา แล้วให้เช่าเป็นยานตลาดขายกาแฟ ขนมจันอับ ยาไทย ตัดเสื้อผ้า ขายก๋วยเตี๋ยว แผงหมูและพืชผลไม้ ตลาดหน้ากิ่งอำเภอจึงกลายเป็นย่านตลาดกลาง ชาวบ้านตลาดควาย แสงกะบะจะถ่อเรือมาซื้อของหรือนำของป่ามาแลก ก็บอกว่าไปตลาดบ้านกลาง แต่นั้นมา
........บ้านเกาะ บ้านทำเนียบ หนองบ้านเก่า
........บ้านเกาะ บ้านทำเนียบ บ้านหนองบ้านเก่า ที่เรียกกันว่าบ้านเกาะ เพราะมีภูมิประเทศเป็นเนินดินมีน้ำล้อมรอบ อยู่ริมบึงใหญ่ที่เรียกว่า ทุ่งจอมบึง ผู้คนรุ่นแรกที่มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านเกาะ เป็นพวกที่สืบเชื้อสายมาจากลาวเวียงจันทร์ ซึ่งถูกกวาดต้อนครอบครัวเข้ามาอยู่ภาคกลาง ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี พ.ศ.2322 และครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยไทยทำศึกชนะเจ้าอนุวงศ์เมื่อ พ.ศ.2369 โดยครั้งแรกถูกกำหนดให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง บริเวณวัดพญาไม้ตรงเชิงสะพานสิริลักษณ์ ต่อมาเคลื่อนย้ายข้ามฝั่งมาอยู่ที่บ้านเขาแร้ง นาสมอ ปากช่องจนถึงบ้านเกาะ
........ผู้นำของลาวเวียงหรือลาวตี้ที่บ้านพญาไม้ซึ่งเป็นพระสงฆ์ ได้ริเริ่มให้ญาติย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ที่จอมบึง เพราะเห็นว่ามีที่ราบลุ่มน้ำอุดมสมบูรณ์ ครั้นนั้นพระสงฆ์รูปนี้ได้นำเงินไปไถ่ตัวพวกญาติที่ตกเป็นทาสในเรือนเบี้ย ให้ได้รับอิสรภาพไปตั้งตัวใหม่ที่จอมบึง อยู่รวมเป็นเครือญาติไม่กี่สิบหลังคาเรือน ได้อาศัยที่ริมบึงทำนาและจับสัตว์น้ำตลอดมา
........ครั้นครอบครัวขยายมากขึ้น จึงได้ขยายไปทางทิศตะวันออกของตัวเกาะ ได้อาศัยที่ริมบึงทำนาได้มากขึ้น และที่แห่งใหม่เหมาะสมกว่าที่เดิม ดังนั้นเมื่อมีข้าราชการมาจากเมืองราชบุรีออกมาตรวจท้องที่ ซึ่งหลังจากรัชกาลที่ 5 ได้ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อ พ.ศ. 2438 แล้ว เมื่อผ่านมาก็มักแวะพักในที่แห่งใหม่เป็นประจำ จึงกลายเป็นสถานที่พำนักหรือทำเนียบรับรองข้าราชการ คนทั่วไปจึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า บ้านทำเนียบ
........ต่อมาเกิดเพลิงไหม้บ้านเกาะเสียหายหลายหลังคาเรือน จึงได้มีการแยกครัวเรือนออกไปอยู่ที่ริมหนองน้ำใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งบริเวณเนินดินที่ไปอยู่ใหม่มีทำเลคล้ายกับว่าเดิมเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนมาก่อน จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนั้นว่า บ้านหนอบ้านเก่า
........ชาวบ้านเกาะเคยอยู่ริมแม่น้ำและรับรู้เรื่องเรือสำเภามาก่อน เมื่อได้พบเสาไม้แก่นน่าจะเป็นเสากระโดงเรือ จึงได้ผูกนิทานเรื่องสำเภาจีนชนเขาปิ่นแล้วมาล่มในบึงใหญ่ แท้จริงแล้วเส้นทางที่สำเภาแล่นผ่านมาคือเส้นทางที่เมื่อไม่นานมานี้ยังใช้อยู่
........ผู้คนเชื้อสายลาวตี้ที่บ้านเกาะ บ้านทำเนียบและหนองบ้านเก่านี้ ถึงแม้จะรักษาภาษาพูดตามพื้นเมืองเดิมไว้ได้ แต่มีการเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเดิมมากแล้ว งานบุญกลางบ้านและสงกรานต์พื้นบ้านที่มีพิธีรดน้ำผู้สูงอายุน่าจะอนุรักษ์ไว้ต่อไป
........ชาวไทยท้องถิ่นที่บ้านตลาดควายสืบเชื้อสายมาจาก ไทยทรงดำ หรือ ไทยโซ่ง แต่ทั่วไปเรียกว่า ลาวโซ่ง ก่อนที่จะมาอยู่ที่บ้านตลาดควาย เดิมอพยพมาจากอำเภอเขาย้อย เพชรบุรี ครั้งแรกมาอยู่ที่ริมบึงฝั่งตรงข้ามกับหนองบัว จึงได้เคลื่อนย้ายจากเชิงเขากลางตลาด ชัฏหนองคาผ่านแสงกะบะไปทางทิศตะวันออก พบว่ามีน้ำขังคาบึงตลอดปี คนโซ่งถือว่าเป็นทำเลดี มีโคกเนินไว้เลี้ยงหมูสำหรับเป็นเครื่องเซ่นไหว้พิธีทำบุญเรือน มีแหล่งน้ำทำนาจับสัตว์น้ำ ต่อมาก็มีกลุ่มเคลื่อนย้ายมาสมทบจากบ้านบัวงาม บ้านดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก
........ควายเป็นสัตว์เลี้ยงที่สำคัญมาก่อน ลาวโซ่งบางตระกูลยังเคยใช้ควายเป็นเครื่องเซ่นในพิธีทำบุญเรือน (เสนเรือน) แต่ปัจจุบันก็ใช้หมูเช่นเดียวกันทุกหมู่บ้าน ลาวโซ่งทำนาโดยใช้ควายไถนา ผิดกับบ้านเกาะบ้านทำเนียบทำนาโดยใช้วัวคู่ไถนา ควายเป็นสัตว์ชอบน้ำมาก ใครมีควายก็มักจะนำไปซื้อขายกันที่นั่น ความที่ต้อนมาจากเขตบ้านบ่อ สวนผึ้ง จะนำไปขายที่เมืองราชบุรี ก็มักจะแวะพักให้ความนอนปลักกันที่นั่นเป็นประจำ ต่อมาจึงพากันเรียกหมู่บ้านนั้นว่า บ้านตลาดควาย
........รำโทนเป็นการละเล่นพื้นบ้านของลาวโซ่ง สมัยก่อนนิยมกันมาก เป็นการรำคู่ระหว่างหญิงชายตามจังหวะโทนดัง ป๊ะ โทน ป๊ะ โทน โทน มีคำร้องประกอบด้วย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวกรุงเทพฯ นิยมการรำโทนมาก ฯพณฯ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสมัยนั้นมีวัตถุประสงค์จะเชิดชูศิลปะการเล่นรำโทนมาก จึงมอบให้กรมศิลปากรออกศึกษาท่ารำมาตรฐานแล้วเปลี่ยนจาก รำโทนมาเป็นรำวง
........เด็กรุ่นใหม่ไม่นิยมแต่งกายแบบโซ่งแล้ว แต่ยังพูดภาษาโซ่งได้ดี ประเพณีการลงข่วง (เกี้ยวสาว) เล่นรำโทน เสนเฮือน เริ่มจะเลือนหายไป ควรมีการฟื้นฟูสักปีละครั้ง บางปีมีการฟื้นฟูงานกลางบ้าน ประกวดธิดาโซ่งแต่งกายพื้นบ้าน แล้วรำโทน เป็นที่น่าสังเกตว่ารำโทน ก็ไม่ได้ใช้โทนกำกับจังหวะแล้ว สาวๆ แต่งกายชุดโซ่งไม่ถูกต้อง ธิดาโซ่งก็ไม่ได้ส่งเสริมสัมภาษณ์ให้พูดและใช้สำเนียงโซ่ง ภูมิปัญญาท้องถิ่นควรช่วยกันจรรโลงวิถีวัฒนธรรมโซ่งอันพึงหวงแหนไว้ต่อไป
........บ้านวังมะเดื่อ
........ชื่อบ้านวังมะเดื่อมาจากคำว่า วัง กับ มะเดื่อ
........วัง ไม่ได้หมายถึงบ้านหรือที่อยู่อาศัย แต่หมายถึง ห้วงน้ำซึ่งเดิมเป็นวังน้ำที่ลึกมาก มีต้นมะเดื่อใหญ่อยู่ในหมู่บ้านหลายต้น เป็นไม่ใหญ่ที่ผลดกแต่ภายในผลจะมีหนอนชอนไชทุกผล
........เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสถ้ำจอมพล (ถ้ำมุจลินท์) เมื่อ พ.ศ.2438 นั้น พลับพลาประทับแรมตั้งอยู่บริเวณหน้าบ้านพักนายอำเภอปัจจุบัน
........วันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2438 เวลาค่ำเสด็จออก ข้าราชการผู้ใหญ่ได้นำกะเหรี่ยงและนายพรานป่าเข้าเฝ้า ซึ่งรวมทั้งนายพรานชื่อแดง เทพสวัสดิ์ เป็นชาวบ้านวังมะเดื่อ พระองค์ได้พระราชทานเหรียญเงินบาทให้เป็นรางวัล
........วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2438 เวลาบ่ายสี่โมงเศษ รัชกาลที่ 5 เสด็จทรงม้าพระที่นั่งไปทอดพระเนตรทุ่งบึงใหญ่ โดยเสด็จฯ ไปทางหน้าป้ายมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึงเข้าถนนตรงไปบ้านวังมะเดื่อ เสด็จฯ ลงสู่ทุ่งบึงที่ทางการถางป่าเป็นทางเสด็จไว้ เล่าว่าพระองค์ทรงตรัสช้าๆ ว่า “นี่หรือบึง สวยงามดี ต่อไปจะเจริญ ต่อไปนี้ให้เรียกว่า จอมบึง” เมื่อเสด็จกลับครั้งนั้นก็ได้ตั้งจอมบึงขึ้นเป็น กิ่งอำเภอจอมบึง
........เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้นำพลเสือป่าเดินทางไกลไปถึงตำบลด่านทับตะโก เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2457 นั้น พระองค์ได้เสด็จฯ ประพาสถ้ำจอมพลด้วย เล่าว่าครั้งนั้นได้ตั้งค่ายบริเวณติดมหาวิทยาลัยที่เรียกว่า โคกสนาม เหล่าลูกเสือได้ลงอาบน้ำที่ท่าวังมะเดื่อด้วย
........ผู้คนที่มาตั้งรกรากแรกๆ เป็นผู้คนเชื้อสายไทยเม็งที่ย้ายมาจากบ้านหนองบัว ซึ่งเดิมเคยอยู่แถบบ้านบางนางลี่ บ้านกล้วยริมแม่น้ำแม่กลอง ที่มาอยู่บ้านวังมะเดื่อเพราะเห็นว่าในหน้าแล้งทุ่งบึงหลังหมู่บ้านจะตื้นเขินเป็นแนวยางลงไปกลางบึง สามารถอาศัยทำนาได้ดี เมื่อทุ่งจอมบึงตื้นเขินและมีพื้นที่ทำนามากขึ้น ตามพากันจับจองทำนาตามกำลังแต่ละครอบครัว ครั้น พ.ศ.2497 เกิดวิทยาลัย (ครู) หมู่บ้านจอมบึง ชาวบ้านวังมะเดื่อเริ่มพัฒนาขึ้น
........บ้านวังมะเดื่อ
........เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสกาญจนบุรีและไทรโยคครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.2416 ได้เสด็จฯ ผ่านหนองบัวค่าย แล้วข้ามทุ่งชาตรีขึ้นฝั่งตรงข้ามที่บ้านหนองบัว มาก่อนแล้ว ดังโคลงพระราชนิพนธ์นิราศกาญจนบุรีที่พระองค์แต่งว่า
........................หนองบัวค่ายเก่าตั้ง แต่เดอม
................หวนฤาหายหื่นเหอม อึดอั้น
................หนองบัวยิ่งมาเตอม แต่โศก
................บัวว่าบัวนุชปั้น เปลี่ยนไว้ให้ชม ๆ
........................สระบัวบงกชช้อย ชูดวง
................บานเบิกเรณูรวง ร่วงรุ้ง
................คิดถันยุคลพวง มาลาศ กูเฮย
................หอมระรินกลิ่นฟุ้ง ทราบเนื้อยังหอมฯ
........ผู้คนรุ่นแรกที่ขึ้นมาอยู่บ้านหนองบัวมีเชื้อสายไทยเหม็ง มาจากบ้านบางนาลี่ริมฝั่งแม่น้ำแม่กลอง อยู่ในเครือญาติไม่กี่หลังคาเรือน ต่อมาได้ชักชวนญาติพี่น้องที่บางลี่ บ้านกล้วยขึ้นมาอยู่มากขึ้น เพราะริมบึงมีที่ราบหญ้างอกงามเหมาะในการเลี้ยงวัวฝูง ผิดกับริมฝั่งแม่น้ำแม่กลองหน้าน้ำน้ำท่วมทุ่ง เหลือที่จะเลี้ยงวัวฝูงได้น้อย ต่างได้อาศัยที่ริมบึงทำไร่ทำนาได้ดี มีปลาปูกุ้งหอย สาหร่ายและกอบัวหลวงอุดมสมบูรณ์ ต่อมามีครอบครัวขยายมาจากบ้านเกาะมาอยู่ด้วย ส่วนครอบครัวชาวมอญนั้นย้ายมาอยู่ภายหลังสุด จากบ้านม่วง นครชุม อำเภอโพธาราม
........พืชไร่ที่มีชื่อเสียงของหนอบัวสมัยก่อนได้แก่ น้อยหน่า
........หลังจากพิธีเปิดป้ายที่ว่าการอำเภอจอมบึงแล้ว ซึ่งย้ายมาเป็นครั้งที่ 3 ในที่ใหม่ เมื่อ 1 มีนาคม พ.ศ.2497 เริ่มมีถนนหลวงผิวลูกรังตัดผ่านกลางมหาวิทยาลัย ไปด่านทับตะโกและบ้านบ่อสวนผึ้ง ชาวบ้านหนองบัวจึงเริ่มย้ายออกมาตั้งอยู่ริมถนนสายใหม่ จึงเรียกที่อยู่เดิมริมบึงว่า บ้านหนองบัวใน และเรียกที่มาตั้งอยู่ใหม่ว่า บ้านหนองบัวนอก
........เพลงพวงมาลัย เป็นการละเล่นสมัยก่อนที่ชาวหนองบัวใช้เล่นหน้าสงกรานต์ ร้องรำเป็นหมู่คณะไปตามหมู่บ้าน เพื่อรับบริจาคเงินนำไปทอดผ้าป่าร่วมกันที่วัดจอมบึง น่าเสียดายที่เด็กๆ รุ่นหลังไม่ได้สืบสานต่อ
........บ้านสันดอน
........................ห้วยด้วนด่วนจากเจ้า จำเป็น
................ห้วยก็ด้วนดุจเห็น หดห้วน
................เห็นห้วยหากคิดเอ็น ดูอก ดูนา
................ดึงเด็ดสวาดิ์ด้วน ทดด้วยด่วนมาๆ
........เป็นโครงบทที่ 82 ในโครงนิราศกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 5 ทรงแต่งโดยใช้นามแฝงของผู้ตามเสด็จว่า ท้าวสุภัตติการภักดี (นาก) เมื่อ พ.ศ.2416 คราวเสด็จประพาสกาญจนบุรีและไทรโยคครั้งแรก เพื่อเป็นการล้อเล่นให้ขบขันและแปลกขึ้นนั่นเอง ตามพระราชนิพนธ์พระองค์ได้เสด็จฯ ผ่าน ห้วยด้วน
........ถนนลาดยางสายจอมบึง-สวนผึ้ง ระหว่างบ้านสันดอนไปบ้านหนองแร้งเมื่อร้อยปีเศษมาแล้ว ก่อน พ.ศ.2416 ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ผ่านนั้น ยังเป็นที่ลุ่มน้ำขังน้ำจากทุ่งโป่งหนองตับเต่าจะไหลเป็นลำห้วย ข้ามฟากถนนไปทางทิศตะวันตกของบ้านสันดอน ผ่านไปทางใต้และกระจายขาดหายไปในทุ่งบึง ซึ่งบริเวณกว้างไปถึงบ้านเนินกระต่าย คนเดินทางสมัยนั้นจึงเรียกว่า ห้วยด้วน เมื่อเกิดหมู่บ้านขึ้นภายหลังต่างก็พากันเรียกว่า บ้านห้วยด้วน
........ผู้คนรุ่นแรกที่มาอยู่ได้แก่ นายเที่ยง นางหนู กลีบอุบล ซึ่งเป็นตายายของนายพูน สลับเขียว (อดีตกำนันตำบลรางบัว) โดยย้ายมาจากบ้านหนองบัวซึ่งห่างกันประมาณ 3 กิโลเมตร นางหนู กลีบอุบลขณะอยู่บ้านหนองบัวยังทันได้เฝ้ารับเสด็จฯ รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงเสด็จฯ ผ่านบ้านหนองบัว ต่อมาภูมิประเทศเปลี่ยนไป หมู่บ้านห้วยด้วนมีสภาพเป็นที่ดอนเหมาะแก่การเลี้ยงฝูงวัว มีน้ำล้อมรอบ อาศัยทำนาได้ดี จึงเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจาก ห้วยด้วน เป็น บ้านสันดอน
........บ้านเก่ากะเหรี่ยง
........บ้านเก่ากะเหรี่ยง อยู่ในหมู่ที่ 9 ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง เดิมเป็นที่อยู่ของชาวกะเหรี่ยง ชาวเขาชนกลุ่มน้อยที่อพยพมาจากอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี รู้จักหมู่บ้านนี้ครั้งแรกเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ไทรโยค พ.ศ.2416
........นายท่องดิ๊ง เป็นหัวหน้าหมู่บ้านได้นำลูกบ้านมาเฝ้ารับเสด็จฯ แล้วได้กราบบังคมทูลให้เสด็จฯ ไปประทับยังที่แห่งใหม่ ริมแม่น้ำภาชี ซึ่งมีภูมิทัศน์สวยงามกว่า จึงทำให้ทรงโปรดปรานมากถึงกับทรงสอบถามได้ความว่า กะเหรี่ยงเป็นชนเผ่าหนึ่ง บ้านเรือนสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก เรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยก็รักษากันตามมีตามเกิด มีความเป็นอยู่ง่ายเสียจนนับวันเดือนปีไม่เป็น และมีผู้รู้หนังสือน้อยมาก จึงทรงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้นายท่องดิ๊งเป็น หลวงพิทักษ์คีรีมาศ ให้ปกครองกันเอง ครั้งนั้น รัชกาลที่ 5 เมื่อได้พบเห็นชาวกะเหรี่ยงได้พรรณนาลักษณะและการแต่งกายว่า
........................สาวสาวเหล่ากะเหรี่ยง สวยสวย
................ปักปิ่นเกล้าผมมวย แช่มช้อย
................เงินไพลูกปัดรวย ร้อยรอบ คอนา
................ขมิ้นขัดผัดหน้าชม้อย ม่ายเหลี้ยง เอียงอาย
........................ขับลำทำเล่นได้ หลายกล
................เขาชิดเฉียดตำทน ส่ายอู้
................เสื้อแสงที่สวมตน เต็มหยาบ คายนา
................พูดอะไรไป่รู้ เรื่องเบ้อเบิ่งควาย
........ต่อมากะเหรี่ยงที่บ้านเก่าได้อพยพไปทางทิศตะวันตก แล้วตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำภาชี กระจายเป็นบ้านสวนผึ้ง บ้านบ่อและบ้านทุ่งแฝก ส่วนที่เก่าก็รกร้างไป
........สำหรับที่ประทับแรมของรัชกาลที่ 5 ชาวบ้านเรียกว่า หินแท่นที่ประทับ ปัจจุบันอยู่ห่างจากลำภาชีมาก อยู่ในเขตหมู่ 1 บ้านด่านมะขามเตี้ย กิ่งอำเภอด่านมะขามเตี้ย ในช่วงร้อยกว่าปีมานี้สายน้ำคงจะเปลี่ยนทางเดิน เห็นแต่แนวหินกรวดท้องน้ำโผล่เป็นตอนๆ และด้วยภาษาถิ่นก็ได้จึงได้เรียกหินแท่น เพี้ยนเป็น หินแด้น หรือ หินแด่น
........นิทานพื้นบ้านจอมบึง สำเภาจีน
........จอมบึงมีนิทานพื้นบ้านเรื่องเดียวที่เล่าสืบต่อกันมาหลายชั่วคน จึงเป็นเรื่องที่ควรศึกษาอย่างมาก ไม่ใช่เรื่องไร้สาระ เพราะต้นเค้าของเรื่องผูกพันอยู่กับชุนเขา ท้องน้ำ โดยพยายามที่จะอธิบายว่าเหตุใด ภูมิประเทศนั้นๆ จึงมีชื่อเสียงเช่นนั้น เรื่องเล่าต่อๆมาว่า
........มีสำเภาจีนลำหนึ่งแล่นมาจากไหนไม่ทราบ ชน (เกาะ) ยอดเขาลูกหนึ่งจนบิ่นไป เลยเรียกเขาลูกนั้นว่า เขาปิ่นแต่นั้นมา ต่อมาได้เรียกเพี้ยนเป็น เขาบิน จนทุกวันนี้ สำเภาแล่นต่อไปได้เลียบ (เกาะ) ทิว เขายาวๆ อีกลูกหนึ่ง แล้วก็พุ่งเข้าชนหัวเข้าอย่างแรงจนทะลุเป็นรูดังที่เห็น จึงเรียกเขาลูกนั้นในเวลาต่อมาว่า เขาทะลุ และก่อนที่จะแล่นเลี้ยวขวาเข้าสู่ท้องทะเลใหญ่ สำเภาจีนก็แล่นฉิว เอาท้องเรือครูดเอายอดเขาอีกลูกหนึ่ง จนยอดเขาแอ่นยุบตรงกลางลงไป สำเภาที่ชำรุดแล้วคงแล่นเลี้ยวขวาต่อไป แล้วในที่สุดท้องเรือก็ทะลุน้ำเข้าเต็มลำเรือ แล้วค่อยๆ จมดิ่งโผล่แต่ยอดเสากระโดงเรือแต่นั้นมา
........ชาวบ้านเคยเห็นเรือสำเภาจีนหรือ?
........ชาวบ้านดั้งเดิมกลุ่มใหญ่แถบทุ่งจอมบึง ได้แก่ กลุ่มชาวบ้านเกาะ หมู่ที่ 1 ตำบลจอมบึง ตั้งหมู่บ้านอยู่บนเนินกลมมีน้ำล้อมรอบ เป็นพวกสืบเชื้อสายมาจาก ลาวเวียงจันทร์ ซึ่งถูกกวาดต้อนครอบครัวมาเป็นเชลย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี คือราว พ.ศ.2322 โดยครั้งแรกถูกกำหนดให้ตั้งหลักแหล่งอยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง บริเวณวัดพญาไม้ในปัจจุบัน
........การกวาดต้อนเอาครอบครัว ลาวเวียงลาวโซงลาวพวนและลาวโซ่ง เข้ามาไว้ในภาคกลาง เพื่อนำมาเป็นพลเมืองของหัวเมืองชั้นใน ซึ่งถูกพม่ากวาดต้อนเอาไปเป็นเชลยนั้น ได้ทำติดต่อกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 3 และที่ 4
........ลาวเวียงที่ราชบุรีนี้ ถึงแม้ว่าจะยังรักษาภาษาพูดตามพื้นเมืองของตนไว้ได้ก็ตามแต่ก็มีการเปลี่ยนแปลงในด้านขนบธรรมเนียมเดิมเสียมากแล้ว
........ผู้นำของลาวเวียงในหมู่บ้านพญาไม้ที่เป็นพระสงฆ์ ได้ริเริ่มให้ญาติย้ายถิ่นขึ้นมาอยู่ที่จอมบึง เพราะเห็นว่ามีที่ราบลุ่มแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ ครั้งนั้นพระสงฆ์รูปนี้ได้นำเงินไปถ่ายตัวพวกญาติอีกหลายคนที่ตกเป็นทาสในเรือนเบี้ยให้ได้รับอิสรภาพ ขึ้นไปตั้งตัวใหม่ที่จอมบึง อยู่รวมเป็นเครือญาติไม่กี่สิบหลังคาเรือน ได้อาศัยที่ริมบึงทำไร่ทำนาตลอดมา ครั้นครอบครัว เพิ่มมากขึ้นก็ขยายไปตั้งที่บ้านทำเนียบและบ้านหนองบ้านเก่า
........ชาวบ้าเชื้อสายลาวเวียงนี้เอง น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับรู้เรื่องราวของสำเภาจีนมาจากเรื่องสำเภาจมในแม่น้ำแม่กลองอย่างแน่นอน ปัจจุบันก็ได้พบแหล่งเรือสำเภาจมหลายแห่ง เช่น ที่บริเวณหน้าวัดเกาะลอย หน้าโรงกลั่นเหล้า วัดตาล วัดมหาธาตุ วัดท่าโขลง บ้านหลุมดิน วัดบ้านส้อง ขึ้นไปถึงหน้าตลาดท่ากวาง
........จริงหรือเคยมียอดเสากระโดงเรือในทุ่งจอมบึง
........นิทานเรื่องสำเภาจีนเป็นจินตนาการของสังคมเกษตรกรรม ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาลูกโดดมากมาย ภูเขาลูกโดดเหล่านั้นราวกับว่าเดิมเคยเป็นเกาะแก่งมาก่อนจริงๆ เมื่อได้รับคำจากผู้สูงอายุหลายท่าน ว่าเคยเห็นเสาไม้แก่นเหลากลมกลึง และเข้าใจว่าเป็นเสากระโดงเรือ ฝังจมดินเอียงๆ อยู่ ทั้งยืนยันว่าเคยลูบคำด้วยมือของตนเอง
........สมัยโน้นเด็กๆที่เลี้ยงวัวในทุ่งจอมบึง มักจะชอบไปไต่เล่น บางคนใช้มีดถางเอาไปสุมไฟก็มี จนบิ่นหายไปเลย นอกจากนั้นบางรายเล่าว่า เมื่อครั้นยังหนุ่มๆ สาวๆ ไปหาปลาหน้าแล้งกลางทุ่งจอมบึง ขณะที่กั้นดินโคลนวิดน้ำจับปลาบริเวณเสาไม้แก่น ก็ได้พบแผ่นไม้กระดานที่เป็นชิ้นส่วนของลำเรือและไม้พายยาวๆ สำหรับแจวเรือ
........เมื่ออธิบายไม่ได้ว่า เสาไม้แก่นต้นนี้มาจากไหน? แต่น่าจะเป็นเสากระโดงเรือชาวบ้านกลุ่มใหม่ที่มาตั้งรกรากประมาณร้อยกว่าปีมาแล้ว จึงได้ผูกเป็นนิทานเพื่อบอกแหล่งที่มา ของเสาไม้แก่นต้นนั้น ดังนั้น เรื่องเสากระโดงเรือสำเภาฝังจมดินอยู่กลางทุ่งจอมบึงนั้นจึงเป็นความสงสัยที่ผู้คนในท้องถิ่นหาคำตอบได้ในนิทานสำเภาจีนนั่นเอง
........ถ้าสำเภาไม่ล่มจะแล่นไปทางไหน
........แท้ที่จริงแล้ว เส้นทางที่สำเภาจีนแล่นผ่านก็คือเส้นทางที่เมื่อไม่นานมานี้ยังใช้อยู่ เมื่อพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสกาญจนบุรีและไทรโยคครั้งแรก พ.ศ.2416 ก็เสด็จผ่านเขาทะลุแล้วทรงประทับแรมที่บ้านหนองบัวค่าย ดังโคลงนิราศกาญจนบุรีที่ทรงนิพนธ์ว่า
........................ถึงช่องเขาทะลุเลี้ยว เลยมา
................แลละลิ่วเพิงผา โหว่โหว้
................กระทิงถึกพยัคฆา เคยสู่ สิงแฮ
................เขาทลุโล่งโต้ ตอบด้วยทรวงเรียมฯ
........พระมหาธิรราชเจ้าเสด็จนำกองเสือป่าจากเพชรบุรี มาฝึกประลองยุทธประจำปีที่ราชบุรี ก็ได้เสด็จผ่านเส้นทางนี้แล้วประทับแรมที่บ้านหนองบัวค่าย เมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ.2457
........สมัยก่อนมีน้ำท่วมทุ่งเจิ่งนองเป็นทะเลสาบ บางแห่งต้องลอยคอเกี่ยวข้าว ขนข้าวด้วยเรือถ่อในบางปี ตามที่บันทึกไว้ พ.ศ.2500 น้ำนองทุ่งจอมบึงครั้งใหญ่ แล้วในรอบ 12 ปี เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ.2511 น้ำท่วมบึงครั้งใหญ่อีก แล้วรอบ 12 ปีที่ผ่านมา วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2524 น้ำท่วมบึงอีกแต่ไม่ค่อยมาก
........ถ้ายืนอยู่ริมทุ่งจอมบึง บนเส้นทางที่สำเภาเลี้ยวขวาสู่ทะเลใหญ่ แล้วมองไปเบื้องหน้าแถบชายฝั่งตลาดจอมบึง นับแต่ซ้ายมือจะเห็นหมู่บ้านหนองบัว ผู้คนรุ่นแรกมีเชื้อสายไทยเม็ง แล้วขยายครัวเรือนมาที่หมู่บ้านวังมะเดื่อ ปะปนกับผู้คนเชื้อสายลาวเวียง ถัดไปก็ตลาดบ้านกลาง ศูนย์กลางซื้อขายแลกเปลี่ยนสิ่งของ หมู่บ้านหนองบ้านเก่า ผู้คนเชื้อสายลาวเวียงซึ่งขยายครัวเรือนมาจากหมู่บ้านบ้านเกาะ ติดกันก็หมู่บ้านทำเนียบ สถานที่พักค้างคืนของข้าราชการสมัยก่อน เมื่อออกมาตรวจท้องที่ ที่ว่าการกิ่งอำเภอจอมบึง ครั้งนั้นตั้งอยู่ที่บริเวณโรงฆ่าสัตว์สุขาภิบาลจอมบึง ส่วนวัดจอมบึงตั้งอยู่บริเวณหน้าสนามโรงเรียนคุรุราษฎร์รังสฤษฏ์ในปัจจุบัน
........หมู่บ้านดังกล่าวมาแล้วเมื่อประมาณ 100 ปีมานี้ พอค่ำลงก็แลเห็นแต่แสงตะเกียงและแสงไฟริบหรี่วอมแวม ที่พอจะบอกได้ว่านั่นคือหมู่บ้าน ถัดไปเป็นฉากหลังยืนตระหง่านคือภูเขาลูกโดด ที่มีชื่อมาก่อนว่า เขากลางเมือง
........ที่มา : หนังสือ 100 ปีจอมบึง

5

6

7

8

9

10